รายการบล็อกของฉัน

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สุญญตา (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)


นิยยานิกธรรม หมายถึง ธรรมที่ตัดมูลรากแห่งวัฎฎะ ทำนิพพานให้เป็นอารมณ์
สุญญตา แปลว่า ความว่าง หรือความว่างเปล่า หมายถึง
๑. ว่างจากสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เห็นสภาวะขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา
๒. สภาวะว่างจากราคะ โทสะ โมหะ สังขารทั้งปวง นิพพาน
๓. โลกุตตรมรรค ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ
๓.๑ ว่างจากขันธ์ ๕ เห็นขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา
๓.๒ ว่างจากกิเลสทั้งปวง
๓.๓ มีความว่าง คือ นิพพานเป็นอารมณ์
๔. ว่างจากการให้ความสำคัญ การใส่ใจ การคำนึงถึงสิ่งใด สิ่งหนึ่ง


พุทธศาสนาฝ่ายเซ็น จุดเด่นเรื่องสุญญตา

พุทธศาสนาฝ่ายเซ็นกำเนิดจากคำสอนของพุทธศาสนาของอินเดียและปรัชญาเต๋าของจีน หลักสำคัญของพุทธศาสนาคือการไม่มีตัวตนและวิธีมองโลกแบบไม่แบ่งแยกไม่ประเมินค่า ปรัชญาเต๋าก็มองโลกแบบไม่แบ่งแยกเช่นกัน ทั้งยังเน้นญาณปัญญามากกว่าความรู้เชิงเหตุผล เพราะความรู้เชิงเหตุผลมีข้อจำกัดและเป็นสิ่งสัมพัทธ์ ปรัชญาเต๋าเน้นความรักธรรมชาติและการปล่อยให้วิถีชีวิตเป็นไปตามธรรมชาติ เซ็นรับมรดกทางปัญญาข้างต้นมาผสมผสานกัน เกิดเป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่ให้ความสำคัญกับการอยู่กับปัจจุบันและชีวิตในโลกนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะขัดเกลาจิตใจให้บรรลุพุทธภาวะ

           พุทธภาวะหรือธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะนั้นมีอยู่แล้วในคนทุกคน เป็นธรรมชาติดั้งเดิมของสรรพสัตว์ สิ่งที่บดบังพุทธภาวะ คือ ความคิดปรุงแต่งซึ่งก่อให้เกิดตัวตน และความยึดมั่นถือมั่น หมกมุ่นอยู่ในความคิดที่ก่อให้เกิดการจำแนกสิ่งต่างๆออกเป็น 2 ฝ่าย เช่น ดี-ฃั่ว ถูก-ผิด เมื่อเราขจัดความคิดปรุงแต่งออกไป ก็จะไม่มีตัวตนและความยึดติดทั้งหลาย มองเห็นเอกภาพของสรรพสิ่ง

           ในฐานะที่เซ็นเป็นสาขาหนึ่งของพุทธศาสนา จึงยึดถือแนวคำสอนหลักเหมือนกับพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท โดยเฉพาะหลักอริยสัจ 4 และ อริยมรรคมีองค์ 8 เซ็นถือว่าสรรพสิ่งล้วนอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตน ธรรมะคือธรรมชาติ และธรรมชาติคือตถตา หรือความเป็นเช่นนั้นเอง

           เซ็นไม่ให้ความสำคัญแก่ตรรกะหรือเหตุผล แต่เน้นประสบการณ์ตรง คือเข้าถึงโดยไม่ผ่านสื่อกลางใดๆ เซ็นไม่มีการแย้งกันในเรื่องถูกหรือผิด ความสมบูรณ์หรือความไม่สมบูรณ์ ความมีหรือไม่มี เพราะถือเป็นการเรื่องของการยึดมั่นถือมั่น ขณะเดียวกัน เซ็นก็เป็นนิกายวิปัสสนาโดยเฉพาะ คือไม่เน้นหนังสือหรือปริยัติธรรมใดๆ แต่มุ่งที่จะขัดเกลาจิตใจ

สุญญตา ของท่านพุทธทาส

คัดจากหนังสือสุญญตา ของท่านพุทธทาส

สุญญตา ที่ตรัสกับฆราวาส
สุญญตา = ว่างจากตัวกู ของกู คือ อุปาทาน
สุญญตาฆราวาสปุถุชน = ว่างชั่วเวลามีสติปัญญา
สุญญตาอรหันต์ = ว่างตลอดกาล
สุญญตาเสขบุคคล = ก็ว่างเป็นคราวๆ แต่ยังมาก หรือดีกว่าปุถุชน

ดังนั้น เป็นสุญญตาชนิดเดียวกัน
เหมือนน้ำทะเลที่ตักมากระป๋องหนึ่ง, กับในทะเลทั้งหมด

ฆราวาส ที่เหมาะกับ สุญญตา

พระพุทธเจ้า ถือว่า ฆราวาสทั่วไป เหมาะกับสุญญตา จึงตรัสขึ้นเช่นนั้น เมื่อถูกถามเช่นนั้น
ฆราวาส (ครั้งพุทธกาลโดยเฉพาะ) เข้าใจความหมาย ของคำว่าสุญญตา จึงทูนทัดทานได้

แต่ฆราวาสไม่น้อย คงรับเอาโดยสมัครใจ
มิฉะนั้น พระองค์จะมากล่าวถึง ทำไมกัน ?

ดังนั้น ฆราวาสทั่วไป เหมาะกับการศึกษาสุญญตา (ซ.ต.พ.)


ความว่างที่ไม่รู้จักเต็ม พระสูตรของท่านเว่ยหลาง

ความว่างที่ไม่รู้จักเต็ม

ถ้าเรากำหนดรูปลักษณ์ความว่าง ย่อมมีขอบเขตแห่งความสิ้นสุดของความว่างนั้นตามรูปลักษณ์ที่กำหนดขึ้นมา จึงมิใช่ความว่างอันแท้จริงตามธรรมญาณ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้นำเอาคำว่า "มหา" มาอธิบายว่าเป็นความ "ใหญ่หลวง" ขนาดของธรรมญาณใหญ่หลวงเยี่ยงเดียวกับอวกาศ จึงไม่อาจบัญญัติออกมาด้วยภาษาหรือรูปลักษณ์ใดๆ ได้เลย "ธรรมญาณมิใช่ของกลมหรือของเหลี่ยมไม่ใช่ของโตหรือของเล็กไม่ใช่ของเขียวหรือเหลือง แดงหรือขาว ไม่มีบนไม่มีล่าง ไม่ใช่ของสั้นหรือยาว ไม่ใช่ความชังหรือความชื่น ไม่ใช่ความถูกหรือความผิด มิใช่ของอันแรกหรืออันสุดท้าย" ธรรมญาณซึ่งเป็นตัวจริงแท้ของเราจึงยิ่งใหญ่จนประมาณมิได้ซึ่งพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้เปรียบเทียบกับพุทธเกษตรว่างเหมือนกับอวกาศฉันใด ธรรมญาณของเราก็ว่างเช่นเดียวกันฉันนั้น และจึงมิใช่ภูมิธรรมอันเดียวเท่านั้นที่ต้องบรรลุถึงด้วยการตรัสรู้ เพราะสภาวะเช่นนี้มันเป็นสิ่งเดียวกับธรรมญาณ ซึ่งเป็นภาวะแห่ง "ความว่างเด็ดขาด" เป็นความว่างของสิ่งซึ่งมีอยู่อย่างแท้จริง เมื่อสภาวะแห่งจิตคืนสู่สภาพเดิมแท้แห่ง "ธรรมญาณ" จึงมิใช่การตรัสรู้ใดๆ ทั้งสิ้น แต่คนมักสับสนเกี่ยวกับ "ความว่าง" ว่าเป็นการขาดสูญไม่มีอะไรเลย ถ้าเข้าใจอย่างนี้พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงท่านบอกว่าเป็นพวก "ความเห็นผิด" เพราะคนเรานั่งอยู่เงียบๆ ทำใจให้ว่างๆ ก็ตั้งอยู่ในภาวะแห่ง "ความว่างเพราะว่างเฉย" ได้เหมือนกัน

ปาฐกถา “สุญญตา” อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ๒๕๑๐

สุญญตา และ จิตว่างในพุทธศาสนา




   เรื่อง สุญญตานี้ เป็นเรื่องสำคัญของชาวพุทธฝ่ายเหนือ หรือมหายาน เช่นเดียวกับเรื่อง อนัตตา
เป็นเรื่องสำคัญของชาวพุทธฝ่ายใต้หรือเถรวาทของเรา แต่ความจริงคำว่า สุญญตาก็มีใช้ในคัมภีร์ฝ่ายใต้เป็นอันมาก ถึงกับจัดเป็นหมวดหมู่หรือวรรคหนึ่ง คือ สุญญตวรรคได้แก่หมวดที่ว่าด้วยสุญญตา อันเกี่ยวกับสมาบัติเป็นที่อยู่หรือเป็นวิหารธรรมของพระพุทธองค์ ดังที่ตรัสไว้ว่า พระองค์มีปกติอยู่ด้วยสุญญตสมาบัติ แท้จริงก็เป็นธรรมะทั่วไปในพระพุทธศาสนา เป็นแต่ว่าชาวพุทธฝ่ายมหายานยกเรื่อง
สุญญตาขึ้นมาเน้นเป็นพิเศษเช่นเดียวกับที่ชาวพุทธฝ่ายเถรวาทเน้นเรื่อง อนัตตาเป็นพิเศษ

   ฉะนั้น ก่อนอื่นควรจะเข้าใจว่า คำว่า สุญญตานี้ไม่ได้แปลว่า ไม่มีอะไร” “สุญญตากับ นัตถิตา
มีความหมายแตกต่างกัน นัตถิตา หรือ อุจเฉทะ ในภาษาบาลี เป็นคำที่ปฏิเสธว่า ไม่มีอะไร” “หรือ
ขาดสูญอย่างสิ้นเชิงส่วน สุญญตาหมายเพียง ปฏิเสธวาทะที่มีอยู่เองโดยมิต้องอิงอาศัยเหตุปัจจัย แต่มิได้ปฏิเสธสภาวะที่อาศัยเหตุปัจจัยปรากฏขึ้น

   ตามหลักพระพุทธศาสนา ผู้มีทิฏฐิในเรื่อง สุญญตาไม่จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะคำนี้เป็นศัพท์เฉพาะในวงของชาวพุทธ มิได้ใช้กันในหมู่พาหิรลัทธิ ในหมู่พาหิรลัทธิ เขาใช้ว่า นัตถิตาบ้าง อุจเฉทะบ้าง เป็นคำปฏิเสธสภาวะอย่างเด็ดขาด ว่าไม่มีอะไรเลยหรือว่างเปล่าอย่างอากาศธาตุทีเดียว สุญญตา
ตามแนวพระพุทธศาสนา มิใช่ หมายถึง เลขสูญ เลขว่าง เลขเปล่า ไม่มีค่าอะไรอย่างที่บางคนเข้าใจ เพียงแต่ปฏิเสธ สิ่งที่เป็นนิจจสภาวะ คือเที่ยงอยู่เป็นนิตย์ เป็นอยู่ได้โดยลำพัง ไม่ต้องอิงอาศัยเหตุปัจจัยส่วนความเป็นอยู่โดยอาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่งนั้น มิได้พลอยถูกปฏิเสธด้วย ใครก็ตามที่ปฏิเสธสภาวะที่อาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น มีขึ้นแล้ว ผู้นั้นก็ชื่อว่าฝ่าย นัตถิตาคือฝ่ายที่เห็นว่า ขาดสูญ ว่างเปล่า ซึ่งนับเป็นมิจฉาทิฏฐิ อย่างไรก็ตามในภาษาไทยเราได้มีการนำคำว่า สุญญตาในบาลี หรือ ศูนยตาในสํสกฤต มาใช้ในทางที่ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง เป็นสูญเปล่าไม่มีอะไรเลย จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในความหมายของคำนี้ในทางพระพุทธศาสนา


วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สกวาที และ ปรวาที สองผู้อภิปราย สุญญตา เนื้อความจากพระไตรปิฎก

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๗  พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๔
กถาวัตถุปกรณ์

สุญญตากถา

   [๑๗๗๕] สกวาที ความว่าง นับเนื่องในสังขารขันธ์ หรือ?
             ปรวาที ถูกแล้ว
             ส. ธรรมหานิมิตมิได้ก็นับเนื่องในสังขารขันธ์ หรือ?
             ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
             ส. ความว่าง นับเนื่องในสังขารขันธ์ หรือ?
             ป. ถูกแล้ว
             ส. ธรรมหาที่ตั้งมิได้ก็นับเนื่องในสังขารขันธ์ หรือ?
             ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
             ส. ธรรมหานิมิตมิได้ ไม่พึงกล่าวว่า นับเนื่องในสังขารขันธ์ หรือ?
             ป. ถูกแล้ว
             ส. ความว่างก็ไม่พึงกล่าวว่า นับเนื่องในสังขารขันธ์ หรือ?
             ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
             ส. ธรรมหาที่ตั้งมิได้ ไม่พึงกล่าวว่า นับเนื่องในสังขารขันธ์ หรือ?
             ป. ถูกแล้ว
             ส. ความว่างก็ไม่พึงกล่าวว่านับเนื่องในสังขารขันธ์ หรือ?
             ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
             ส. ความว่างนับเนื่องในสังขารขันธ์ หรือ?
             ป. ถูกแล้ว

สุญญตากับอนัตตาเหมือนหรือแตกต่างอย่างไร

     คำว่า สุญญตา เป็นคำที่ฝ่ายมหายานนิยมใช้แพร่หลายมากที่สุด สุญญตากับอนัตตาความจริง
ก็มีความหมายใกล้เคียงกัน กล่าวคือเป็นคำปฏิเสธสภาวะซึ่งมีอยู่ เป็นอยู่ด้วยตัวมันเอง เพราะ
ในทรรศนะของมหายาน สรรพสิ่งซึ่งปรากฏแก่เราล้วนเป็นปฏิจจสมุปบาทธรรมทั้งสิ้น สุญญตา
มิได้หมายว่าว่างเปล่าไม่มีอะไรเลยเหมือนอากาศ แต่หมายเพียงว่าไม่มีสภาวะที่ดำรงอยู่ได้
โดยตัวของมันเอง ชนิดที่ไม่ต้องอาศัยปัจจัย แต่ปัจจัยธรรมซึ่งอาศัยกันเป็นภาพมายา มีอยู่
ปรากฏอยู่มิใช่ว่าจะไม่มีอะไรๆ ไปเสียทั้งหมด ฝ่ายมหายานอธิบายว่าโลกกับพระนิพพาน
ความจริงไม่ใช่อันเดียวกันหรือแตกต่างกัน กล่าวคือโลกเป็นปฏิจจสมุปบาท ความดับ
ปฏิจจสมุปบาทนั้นเสียได้ ก็คือพระนิพพาน ฉะนั้นทั้งโลกและพระนิพพานจึงเป็นสุญญตา
คือไม่ใช่เป็นสภาวะ และเมื่อสภาวะไม่มีเสียแล้ว อภาวะก็พลอยไม่มีไปด้วย เพราะมีสภาวะ
จึงมีอภาวะเป็นของคู่กัน ผู้ใดเห็นว่าโลกและพระนิพพานเป็นสภาวะ ผู้นั้นเป็นสัสสตทิฏฐิ
ผู้ใดเห็นว่าโลกและพระนิพพานเป็นอภาวะเล่า ผู้นั้นก็เป็นอุจเฉททิฏฐิ ผู้ใดเห็นว่าโดยสมมติสัจจะ
ธรรมทั้งปวงเป็นปฏิจจสมุปบาทและโดยปรมัตถสัจจะธรรมทั้งปวงเป็นสุญญตาไซร้ ผู้นั้นแล
ได้ชื่อว่าผู้มีสัมมาทิฏฐิโดยแท้ ที่ว่ามานี้เป็นมติของพระนาครชุนผู้เป็นต้นนิกายสุญญวาท


(เสถียร โพธินันทะ, ชุมนุมพระสูตรมหายาน, สำนักพิพมพ์บรรณาคาร, 2516, ต-ถ )




เครดิต : http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/mahayana26.htm