รายการบล็อกของฉัน

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

พุทธศาสนาฝ่ายเซ็น จุดเด่นเรื่องสุญญตา

พุทธศาสนาฝ่ายเซ็นกำเนิดจากคำสอนของพุทธศาสนาของอินเดียและปรัชญาเต๋าของจีน หลักสำคัญของพุทธศาสนาคือการไม่มีตัวตนและวิธีมองโลกแบบไม่แบ่งแยกไม่ประเมินค่า ปรัชญาเต๋าก็มองโลกแบบไม่แบ่งแยกเช่นกัน ทั้งยังเน้นญาณปัญญามากกว่าความรู้เชิงเหตุผล เพราะความรู้เชิงเหตุผลมีข้อจำกัดและเป็นสิ่งสัมพัทธ์ ปรัชญาเต๋าเน้นความรักธรรมชาติและการปล่อยให้วิถีชีวิตเป็นไปตามธรรมชาติ เซ็นรับมรดกทางปัญญาข้างต้นมาผสมผสานกัน เกิดเป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่ให้ความสำคัญกับการอยู่กับปัจจุบันและชีวิตในโลกนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะขัดเกลาจิตใจให้บรรลุพุทธภาวะ

           พุทธภาวะหรือธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะนั้นมีอยู่แล้วในคนทุกคน เป็นธรรมชาติดั้งเดิมของสรรพสัตว์ สิ่งที่บดบังพุทธภาวะ คือ ความคิดปรุงแต่งซึ่งก่อให้เกิดตัวตน และความยึดมั่นถือมั่น หมกมุ่นอยู่ในความคิดที่ก่อให้เกิดการจำแนกสิ่งต่างๆออกเป็น 2 ฝ่าย เช่น ดี-ฃั่ว ถูก-ผิด เมื่อเราขจัดความคิดปรุงแต่งออกไป ก็จะไม่มีตัวตนและความยึดติดทั้งหลาย มองเห็นเอกภาพของสรรพสิ่ง

           ในฐานะที่เซ็นเป็นสาขาหนึ่งของพุทธศาสนา จึงยึดถือแนวคำสอนหลักเหมือนกับพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท โดยเฉพาะหลักอริยสัจ 4 และ อริยมรรคมีองค์ 8 เซ็นถือว่าสรรพสิ่งล้วนอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตน ธรรมะคือธรรมชาติ และธรรมชาติคือตถตา หรือความเป็นเช่นนั้นเอง

           เซ็นไม่ให้ความสำคัญแก่ตรรกะหรือเหตุผล แต่เน้นประสบการณ์ตรง คือเข้าถึงโดยไม่ผ่านสื่อกลางใดๆ เซ็นไม่มีการแย้งกันในเรื่องถูกหรือผิด ความสมบูรณ์หรือความไม่สมบูรณ์ ความมีหรือไม่มี เพราะถือเป็นการเรื่องของการยึดมั่นถือมั่น ขณะเดียวกัน เซ็นก็เป็นนิกายวิปัสสนาโดยเฉพาะ คือไม่เน้นหนังสือหรือปริยัติธรรมใดๆ แต่มุ่งที่จะขัดเกลาจิตใจ



           เซ็นอาจนิยามได้ด้วยโศลกอันมีชื่อเสียงที่มีเนื้อความว่า

           "การถ่ายทอดพิเศษนอกคัมภีร์

           ไม่อาศัยถ้อยคำหรือตัวอักษร

           ชี้ตรงไปยังจิตมนุษย์

           เพ่งมองให้ถึงธรรมชาติของตนเองและบรรลุพุทธภาวะ"

บรรทัดแรกของโศลก หมายถึง การถ่ายทอดธรรมจากใจสู่ใจ ซึ่งเป็นการให้คุณค่าต่อศักยภาพในปัจเจกบุคคล หน้าที่ของผู้สอนคือ หาแนวทางที่เหมาะสมกับศิษย์ เพื่อให้เรียนรู้ได้อย่างถ่องแท้ที่สุด

           เซ็นยึดหลักแบบมหายาน คือถืออุดมคติ 3 ประการ ได้แก่

           1. หลักมหาปัญญา เน้นเรื่องสุญญตา หรือความว่าง ได้แก่การละความยึดถือ แม้กระทั่งพระนิพพาน

           2. หลักมหากรุณา ได้แก่การตั้งโพธิจิตเพื่อช่วยสัตว์ทั้งปวง

           3. หลักมหาอุปาย คือจะต้องแสวงหากุศโลบายในการช่วยเหลือปวงสัตว์

           พุทธภาวะ (Buddhahood) หรือความรู้แจ้งอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น เอกจิต (One Mind) หรือจิตเดิมแท้ (Essence of Mind) เป็นภาวะที่ไม่อาจจะเอาชื่อหรือสัญลักษณ์ทางภาษาใด ๆ ไปนิยามได้ เพราะเป็นภาวะที่อยู่เกินเลยขอบเขตของภาษาและไม่ใช่สิ่งที่จะเอาการใช้เหตุผล (Reasoning) ไปทำความเข้าใจได้

           จุดหมายแห่งการดำเนินชีวิตแบบเซ็นคือ การบรรลุซาโตริ (Satori) หรือภาวะรู้แจ้ง ซึ่งเป็นภาวะที่บุคคลสามารถทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทานแล้วกลับเข้าสู่พุทธภาวะ การมีประสบการณ์ซาโตริจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราขจัดวิธีมองโลกแบบแบ่งแยกประเมินค่า เลิกแบ่งแยกสิ่งต่างๆออกจากกันและกัน เป็นเราเป็นเขา เป็นมนุษย์เป็นสัตว์ เป็นดีเป็นชั่ว ตระหนักถึงความเป็นเอกภาพ ความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่งทั้งปวง ความเป็นเอกภาพของสรรพสิ่งนี้เป็นธรรมชาติแต่ดั้งเดิมของจักรวาลนี้ ไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใดดำรงอยู่เป็นเอกเทศ สรรพสิ่งในจักรวาลมีความเป็นไปโดยพลวัต (dynamic) อย่างสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก่อให้เกิดภาวะเอกภาพของสรรพสิ่ง

           การที่จะขจัดอวิชชาที่เป็นสาเหตุของวิธีมองโลกแบบแบ่งแยกประเมินค่า จะต้องมีจิตที่เป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ ปัญญาก็จะเกิด มโนทัศน์เรื่องการเกิด-การตาย สวย-ขี้เหร่ ดี-ชั่ว หรือ เรา-เขาก็จะหมดไป เลิกยึดถือว่ามีตัวตนในสรรพสิ่ง แล้วเราจะพบว่าทุกอย่างล้วนไร้ตัวตนที่จะเปรียบเทียบ เกิดประจักษ์รู้แจ้งในพุทธภาวะ

           หลัก 5 ประการของเซ็น

           (1) ความจริงสูงสุดไม่สามารถแสดงออกได้ด้วยคำพูด ดังคำที่ว่า "เซ็นคือ การส่งมอบพิเศษนอกคัมภีร์ ไม่ต้องอาศัยคำพูดหรือตัวหนังสือ" ซึ่งตรงกับความคิดหลักของปรัชญาเต๋าที่ว่า "เต๋าเป็นสิ่งที่ไม่อาจเรียกได้ด้วยคำพูด เต๋าที่เรียกได้ด้วยคำพูดไม่ใช่เต๋าที่แท้จริง" และ "ผู้พูดไม่รู้ ผู้รู้ไม่พูด"

           (2) การฝึกฝนในทางธรรมคือการขจัดความคิดปรุงแต่ง ความคิดเกี่ยวกับตัวตน การคิดแบบแบ่งแยก รวมถึงการท่องพระสูตร การประกอบพิธีต่างๆเกิดจากความคิดปรุงแต่ง เราพึงเฝ้าดูและหมั่นขจัดกระแสแห่งความคิดปรุงแต่งจึงจะเป็นการปฎิบัติธรรมที่แท้จริง

           (3) การทำงานในชีวิตประจำวันด้วยความมีสติเป็นการปฏิบัติธรรมวิธีหนึ่ง พุทธภาวะอาจพบได้ในทุกเวลาและทุกแห่ง และการรู้แจ้งในความหมายของเซ็น ก็มิได้หมายถึงการปลีกตัวจากภารกิจทางโลกไปออกบวช เซ็นคือประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน และการปฏิบัติกิจประจำวันอย่างผู้ที่ตื่นอยู่ทุกขณะจิต

           (4) ผลบั้นปลายไม่มีอะไรใหม่ การรู้แจ้งในธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะของตน ความรู้สึกถึงเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งทั้งมวลไม่ใช่สิ่งใหม่หรือพิเศษแต่อย่างใด เป็นเพียงการรู้แจ้งถึงสิ่งที่อยู่ในตัวเรามาตลอดเวลาเท่านั้น เมื่อขจัดตัวตนที่ปรุงแต่งออกไป เมื่อสิ้นอวิชชา มาสู่ภาวะของความตื่น พุทธภาวะจะปรากฎขึ้นเอง

           (5) คำสอนทั้งหลายไม่มีความสำคัญมากนัก คำพูด ความคิด คำสอน ลัทธิ ไม่มีความหมาย ตราบใดที่ยังยึดติดในสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่อาจรู้แจ้งได้ สิ่งสำคัญที่สุดมีเพียง ประสบการณ์ของความตื่นเท่านั้น



เครดิต : http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/zen00.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น